ติดตามเรา
Steam รีวิวเกม

(รีวิวเกมออฟไลน์) Quantum conundrum บริหารสมองด้วยเกมสุดแสนสนุก

 

Quantum conundrum นั้นเป็นเกมแก้ไขปริศนามุมมอง FPS แนว Action Sci-Fi ที่ได้ Kim Swift หนึ่งในผู้สร้างเกมประตูมิติชื่อดังก้องโลกอย่าง Portal มาคุมเกมนี้ด้วย ด้วยระดับชื่อผู้สร้างเกม Portal มาสร้างเกมนี้ย่อมทำให้เกมนี้มีความน่าสนใจแล้ว ซึ่งตัวเกมนั้นก็เป็นเกมแนวแก้ไขปริศนาที่เล่นสนุกและแปลกใหม่ไม่แพ้ Portal เลยหละครับ

เนื้อเรื่องของเกม Quantum conundrum จะเอ่ยถึงตัวเราซึ่งเป็นเด็กอายุ 12 ได้ไปเที่ยวบ้านคุณปู่ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการทดลองต่างๆ นาๆ แต่พอไปหาล่าสุดนั้นคุณปู่กลับไม่อยู่บ้าน โดยระบบรักษาความปลอดภัยซึ่งคุณปู่อัดเสียงเอาไว้ (ให้เสียงพากษ์โดย Chris Ballew) ซึ่งระบบรักษาความปลอดภัยที่ว่าก็ไม่รู้อีกว่าเกิดอะไรขึ้นกับเจ้าของบ้าน โดยเราจะต้องค้นหาในคฤหาสน์เพื่อตามหาปู่ของตนเองนั่นเอง

ทำให้ตู้เซฟเบาจนลอยมาใกล้กระจก แล้วก็เปลี่ยนมิติเป็นปกติ ความหนักของตู้เซฟจะทำให้กระจกแตก

ตัวเกมนั้นจะเป็นแนว FPS แนวแก้ไขปริศนา โดยปริศนาในครั้งนี้จะไม่มีการเปิดประตูมิติแต่อย่างใด แต่จะเป็นการแก้ปริศนาโดยใช้กลศาสตร์ควอนตัมแทนครับ (กลศาสตร์ควอนตัมเป็นสาขาหนึ่งในทฤษฎีรากฐานของฟิสิกส์ ที่มีความสามารถในการอธิบายผลการทดลองต่างๆ และถูกใช้แทนที่กลศาสตร์นิวตัน (หรือกลศาสตร์ดั้งเดิม) และ กลศาสตร์ไฟฟ้าของแม็กซ์เวลล์ (หรือทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า) นั่นเองครับ

กะเวลาทำทางขึ้นให้ดีๆ

อย่าเพิ่งห่วงหนาวหายนอนละกันนะครับ โดยสำหรับเรื่องของ กลศาสตร์ควอนตัม ที่เราจะเจอในเกมนั้นไม่มีอะไรยุ่งยากครับ ตัวเกมจะมีลูกเล่นให้เราทั้งหมด 4 อย่าง ได้แก่ มิติของเบา (จะทำให้ของหนักๆ ที่ยกไม่ขึ้นยกขึ้นได้หรือปลิวไปตามลมเลย) , มิติของหนัก (ทำให้วัตถุมีของหนักมากขึ้นจนยกไม่ขึ้น) , มิติเวลา (ทำให้เวลาช้าลง หรือสโลวโมชั่น) และมิติต้านแรงดึงดูด (ทำให้วัตถุลอยขึ้นไปได้) นั่นเอง โดยแต่ละมิติที่ว่าเราสามารถกดควบคุมได้อิสระแต่ได้แค่ใช้อย่างละมิติเท่านั้นเอง

เลเซอร์ปกติจะทำลายโซฟา แต่หากเปลี่ยนมิติให้มันหนักอึ้ง เลเซอร์จะพังมันไม่ได้ เราก็หลบเลเซอร์ได้สบาย

ผมยกตัวอย่างว่า หากคุณต้องการที่จะขึ้นไปข้างบนที่คุณกระโดดไม่ถึง ข้างๆ คุณมีตู้เซฟอยู่ซึ่งมันหนักมาก คุณสามารถเปลี่ยนมิติให้เป็น “ของเบา” เพื่อยกตู้เซฟที่ว่านี้มาวางเอาไว้ แล้วก็สามารถกระโดดขึ้่นไปได้ หรือ คุณต้องการลอยข้ามไปยังอีกฝั่ง คุณเปลี่ยนมิติของเบา ยกตู้เซฟขึ้นมา ขว้างมันออกไป แล้วเปลี่ยนมิติมาเป็นสโลวโมชั่น กระโดดขึ้นไปบนตู้เซฟ แล้วก็เปลี่ยนมิติให้มาเป็นแบบเดิม แล้วเราก็จะลอยตามตู้เซฟไปยังทิสทางที่เราต้องการเลย แบบนี้พอจะนึกภาพออกใช่ไหมครับว่าตัวเกมนี้จะเล่นยังไง

ต้องเอาของหนักมาวางสวิตซ์เพื่อเปิดประตู

อันที่จริงต้องบอกว่าสำหรับคนไหนผ่านเกม Portal มาก่อนละก็จะสามารถเข้าถึงเกมนี้ได้ไม่ยากครับเพราะตัวเกมนั้นมีรูปแบบการเล่นคล้าย Portal เลย ไม่ว่าจะเป็นการผ่านฉากต่างๆ เข้าประตูไปแล้วก็เดินพักหายใจก่อนที่จะไปยังห้องทดลองห้องต่อไป (เหมือนตอนเข้าไปในลิฟต์ เป็นต้น) ฉากต่างๆ ในเกมนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลายส่วนคล้าย Portal อย่างมาก ราวกับว่าคฤหาสน์หลังนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของ Aperture Science complex ก็ได้ (โดยเฉพาะเลเซอร์ที่ดูยังไง๊ยังไงก็อดนึกถึง Portal ไม่ได้) ฉะนั้นบอกได้เลยว่า หากคุณชอบเกม Portal ละก็ ต้องชอบเกมนี้เช่นกันครับ

ฉากลอยไปตามทางเป็นอะไรที่ชวนตื่นเต้นดีจริงๆ

การแก้ไขปริศนาของเกมนี้เท่าที่ลองเล่นก็นั้นต้องบอกว่าง่ายกว่า Portal อีก อาจเป็นเพราะว่าตัวเกม Quantum conundrum นั้นออกแบบมาให้เด็กๆ เล่นได้ด้วย ปริศนาทั้งหมดจะต่างจาก Portal ตรงที่ว่าไม่ได้ใช้วิธีง่ายๆ อย่างเดียว แต่ให้ดูสภาพแวดล้อมเป็นหลักด้วยว่าเราจะแก้ไขปริศนายังไง ปริศนาแต่ละฉากของเกมนี้ออกแบบมาได้สนุก หลายๆ ฉากตื่นเต้นชวนให้ติดหน้าจอจนไม่อยากจะลุกไปไหนต่อมากๆ โดยระบบรักษาความปลอดภัยในคฤหาสน์นั้นจะคอยช่วยแนะนำเราตลอดเวลาด้วย

เลเซอร์ เลเซอร์ แล้วก็เลเซอร์

ถึงจะบอกว่าเป็นเกมแก้ไขปริศนาแต่ฉากแอ็คชั่นเสี่ยงตายสไตล์ Portal ก็มีมาให้เห็นเช่นกัน เช่น การลอยข้ามฉากต่างๆ ด้วยความเร็วสูง หรือฝ่าแสงเลเซอร์ที่โดนทีเดียวก็คือตายเลย ฉากต่างๆ เหล่านี้จะรีดความสนุกสนานให้คนเล่นไม่รู้สึกน่าเบื่อหน่ายแต่กลับสร้างความท้าทายให้กับคนเล่น แต่ก็แน่นอนว่าไม่ค่อยเหมาะกับกลุ่มเด็กเล็กๆ รวมไปถึงพวกหัวเกรียนเท่าไหร่นัก

ดูว่าสายไหนเป็นสายไหน แล้วก็เปิดสวิตซ์ซะ

ตัวเกมมีการดำเนินเนื้อเรื่องยาวในระดับหนึ่ง ก็คือไม่สั้นไปไม่ยาวไป โดยระหว่างการเล่นก็จะค่อยๆ เล่าเรื่องราวของคุณปู่เกี่ยวกับการทดลองของคุณปู่ให้คนเล่นฟัง น่าเสียหายที่ตัวเกมฉากจบนั้นออกมาสไตล์เดียวกับ Portal เลย นั่นก็คือทิ้งปริศนาเอาไว้ที่บอกเป็นกลายๆ ว่า “มันต้องมีภาค 2 ต่อแน่ๆ” จริงๆ เกมนี้หากไม่สนเนื้อเรื่องเลยจัดได้ว่าเป็นเกมแก้ปริศนาที่สนุกมากเกมหนึ่งที่คุณอาจสนุกสนานกับมันโดยไม่สนใจเนื้อเรื่องเลยก็ได้

รอจังหวะกระโดดเหยียบตู้เซฟตอนที่เวลามัน สโลวโมชั่น

ภาพกราฟฟิกในเกมนั้นใช้ Unreal Engin พัฒนา และใช้ระบบ NVIDIA PhysX ในการคำนวณการเคลื่อนไหว นํ้าหนักต่างๆ ให้สมจริงอีกด้วย ภาพออกมาดูสบายๆ ผ่อนคลายมากกว่า Portal ที่เป็นห้องทดลองที่แสนจะกดดัน แต่ทั้งนี้ต้องบอกว่าตัวเกมนั้นกินสเปคเยอะมากๆ แถมการปรับแต่งออฟชั่นกราฟฟิกมีอย่างมากก็ปรับขนาดหน้าจอเท่านั้น คนไหนคอมสเปคตํ่าๆ เล่นเกมนี้ลำบากแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การ์ดจอและแรมต้องสูงระดับหนึ่งเลยทีเดียว

เสียงประกอบในเกมนี้ฟังออกมาสบายๆ รื่นหู สามารถเอามาฟังเพลินๆ ตอนทำงานหรือตอนนั่งอ่านหนังสือได้อีกด้วย ทีเด็ดของเกมนี้ก็คือ เพลงจบของเกมนี้ทำออกมาได้ไพเราะและดีเยี่ยมไม่แพ้เพลงปิดของเกม Portal เลย เป็นอีกเกมที่หากคนไหนชอบเพลงแนวสบายๆ เอามาเปิดฟังตอนทำงานหรือตอนอ่านหนังสือจะคุ้มค่าหากว่าซื้อเพลงประกอบของเกมมาด้วยครับ

ข้อเสียของเกมนั้นก็ยังมีโผล่มาให้เห็นเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทะลุฉากในบางฉากหรือในบางช่วงสคริปเกมไม่ตรงตามจังหวะของคนเล่น (โดยมากมักจะเป็นหลังจากคนเล่นตาย) จึงทำให้ต้องแก้ปัญหาโดยการยอมตายแล้วเกิดใหม่ แต่อันที่จริงจุดเสียจริงๆ ก็คงเป็นเรื่องของกราฟฟิกที่บางฉากกินเฟรมเรตสูงโดยไม่จำเป็น และเกมไม่เอื้อกับคอมสเปคเก่าเลย ทั้งๆ ที่ Unreal Engin เป็นแองจิ้นที่ออกแบบมาให้คอมสเปคตํ่าเล่นได้ด้วย โชตยังดีที่ตัวเกมยังมี DEMO ให้ลองเพื่อดูว่าคอมพิวเตอร์รับไหวไหม (เพราะไม่งั้นซื้อมาแล้วเล่นแทบไม่ได้นี่งานเข้า)

โดยสรุปแล้ว สำหรับเกม Quantum conundrum เป็นเกมแนวแก้ไขปริศนาที่สนุกมาก บริหารสมองในการเล่นไปด้วยผ่อนคลายกับความสนุกสนานที่ตัวเกมมอบให้ มีหลายฉากน่าจดจำเหมาะให้เด็กๆ และคนเล่นทั่วไปมาเล่นเพื่อฝึกสมาธิและฝึกสมอง หากคุณหลงรักเกม Portal ละก็ คุณก็ต้องชอบเกมนี้ด้วยครับ

จุดเด่น
– นำเสนอเกมเพลที่แปลกใหม่ ไม่ซํ้าซาก และน่าจดจำ
– ภาพกราฟฟิกดูสบายๆ เพลินตา ไม่ลายตา ไม่เวียนหัวและผ่อนคลาย
– เกมเล่นไม่ยากจนเกินไป มีคอมคอยแนะนำให้ (หากฟังภาษาอังกฤษออกอะนะ)
– อ่านไม่ออก ฟังไม่ได้ ก็สามารถเล่นเกมนี้ได้
– เนื้อเรื่องไม่ยาวไป ไม่สั้นไป กำลังดี เพลงประกอบสนุกสนานและไพเราะ

ข้อเสีย
– ฉากจบสั้นไป บ่งบอกการมาของ “ภาค 2” อย่างไม่ต้องสงสัย
– บั๊กกราฟฟิกบางฉาก สคริปในเกมบางฉากไม่ตรงจังหวะ
– กราฟฟิกมีให้ปรับแต่งไม่เยอะ ราวกับพอร์ทออกมาจากเครื่องคอนโซลมาแบบลวกๆ ไม่เอื้อให้คอมสเปคตํ่าเล่นได้เลย
– กินเฟรมเรตมากในบางจุดโดยไม่จำเป็น
– ไม่เหมาะกับเด็กคนเล็กๆ และเกรียนทั้งหลาย

ลิ้งตัวเกมใน Steam (มี DEMO ให้ลอง) – http://store.steampowered.com/app/200010/

Leave a comment