ติดตามเรา
E-sport Hot News บทความ

เปิดอกพูดคุยเรื่องสังคมกับอีสปอร์ต ในงานเสวนา “ธรรมภิบาลอีสปอร์ต”

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย (TESF) ได้จัดงานเสวนาฟอรั่มเกี่ยวกับอีสปอร์ตขึ้นเป็นครั้งแรก ในชื่องานว่า “ธรรมภิบาลอีสปอร์ต” โดยมีความเห็นในเรื่องราวของเกม การแข่งขันอีสปอร์ต ความเหมาะสม เกี่ยวกับทางสังคมไทย โดยทางสมาคมได้เรียนแขกผู้มีเกียรติต่างๆ ในการเข้าร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในในงานครั้งนี้ด้วย

สำหรับแขกผู้มีเกียรติที่เข้ามาร่วมงานเสวนาในครั้งนี้ ได้แก่

“คุณเทพกร ธนูถนัด” นักวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ฉายภาพความเป็นไปได้ของกีฬาอีสปอร์ตผ่านชุดตัวเลขในเชิงสถิติที่น่าเชื่อถือ
“คุณ ดิว อาณัติ เรืองวงศ์” ผู้ก่อตั้งทีมกีฬาอีสปอร์ต Xavier Esports
“คุณ สฤณี อาชวานันทกุล” นักวิเคราะห์การเงิน และคอลัมนิสต์ที่มองเห็นคุณค่าของเกมในเชิงสังคม
“คุณ อุ้ย รอมแพง จันทร์ยวีร์ สมปรีดา” นักเขียนนวนิยายเรื่อง “บุพเพสันนิวาส”
“คุณบุ๊ค นพรุจ เหมภมร” นักกีฬา TEKKEN ทีมชาติไทย

ทั้งนี้ ทางเราได้เขียนสรุปเรื่องราวการเสวนาครั้งนี้้เป็นข้อๆ ให้อ่านกันนะครับ โดยในงานได้มีการพูดคุยในด้านมุมมองต่างๆ ดังนี้

มุมมองของสังคมไทยที่มีต่อเกมกับอีสปอร์ต มีอย่างไรบ้าง?

“คุณบุ๊ค นพรุจ เหมภมร” นักกีฬา TEKKEN ทีมชาติไทย

คุณอุ้ย ได้มองว่า การเล่นเกมเป็นสิ่งที่ดี เพราะช่วยสร้างเสริมจินตนาการ ความคิด การวางแผนให้กับผู้ใช้ ซึ่งก็มองว่าเกมก็มีประโยชน์ในการเรียนรู้ แต่ทั้งนี้ สังคมก็ยังมีข้อสงสัยว่า เกมที่มีลักษณะของการ “เติมเงิน” เพื่อทำให้ตัวละครเก่งขึ้น จะแตกต่างจาก การแข่งขันอีสปอร์ต ที่ “คนเล่นทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และต้องวัดกันที่สกิลการเล่นให้ได้” อย่างไร

คุณสฤณี มองว่า สังคมกำลังมองในมุมมองของเกมให้ดีขึ้น แต่ก่อนเกมยังถูกมองเป็นแหล่งมั่วสุม แต่พอเกมได้มีการบรรจุและรับรองเป็นกีฬา อีสปอร์ต จึงทำให้เกมได้รับการมองในแง่ที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาจากมุมมองของคนที่ยังมีอคติกับเกมอยู่ แต่ก็มีความน่าสนใจว่า ในเมื่อคนสร้างเกมเป็นคน “สร้างกฎในการแข่งขัน” แต่ระเบียบ กติการการแข่งขันของ “กีฬา” จริงๆ มีความแตกต่างกัน เราจะพัฒนาร่วมกันอย่างไร

คุณดิว มองว่า ทางสโมสรมีส่วนในการมีส่วนร่วมในการปรับความเข้าใจกับผู้ปกครอง ครูอาจารย์ต่างๆ เพราะมีความแตกต่างระหว่าง คนติดเกม กับ นักกีฬาจริงๆ ซึ่งคนภายนอกจะยังมีอคติอยู่ แต่ต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจ ซึ่งจำนวนคนที่เป็นนักกีฬาจริงๆ จะน้อยกว่าคนที่เป็นคนเล่นเกมปกติ

คุณบุ๊ค ก็เคยมองว่า เกมที่มีการแข่งขันจริงๆ ควรมีการทำให้เป็นระเบียบ มาตราฐาน และมีกฎกติกาที่เหมาะสม เพื่อให้คนภายนอกมองว่า เกมที่เป็นกีฬา เป็นเกมที่มีความเป็นกีฬาและแตกต่างจากคนเล่นเกมจริงๆ

คุณเทพ มองว่า การแข่งขันกีฬา อีสปอร์ต มีความแตกต่างจากการเล่นเกมปกติ เพราะต้องเป็นคนเล่นที่เก่ง และต้องมีรายได้ ซึ่งปัจจุบันมีรายการแข่งขันที่โตมากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้มีตำแหน่งงานในการเป็นอาชีพได้จริงๆ แต่แปลว่าคนเล่นจะต้องเล่นมากกว่าคนเล่นปกติ 5 เท่า ซึ่งมีน้อยมากที่จะไปถึงตรงนั้น แต่สังคมยังคงมองว่า การที่เกมเป็น “กีฬา” จะต้องมีการออกเหงื่อ ซึ่งจริงๆ แล้ว “ยังไม่ใช่”

คุณดิวได้มีความเห็นเพิ่มเติมว่า การแข่งขันบางรายการของผู้จัดบางงานไม่ได้มีมาตราฐานในการจัดงาน เช่น มีการเปลี่ยนแปลงกติกา กฎการเล่น การจ่ายเงินรางวัลล่าช้า ฯลฯ ซึ่งทำให้การแข่งขันมีปัญหาและไม่เป็นมาตราฐานของการแข่งขันกีฬาจริงๆ

ความยุติธรรมของคนในสังคมไทย ในการเข้ามามีส่วนร่วมกับ esport ควรเป็นอย่างไร?

“คุณ ดิว อาณัติ เรืองวงศ์” ผู้ก่อตั้งทีมกีฬาอีสปอร์ต Xavier Esports

คุณบุ๊คมองว่า การมาของอีสปอร์ตทำให้มีหลากหลายบริษัทได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงานการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งบางเจ้านั้นไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการจัด ซึ่งทุกอย่างไม่เป็นมาตราฐานและทำให้เกิดปัญหาระหว่างการแข่งขันได้

คุณสฤณีได้มองว่า ผู้พัฒนาเกม กับ ผู้จัดการแข่งขัน จะต้องวางมาตราฐานในการแข่งขันให้เป็นกีฬาและได้มาตราฐานจริงๆ เพื่อความเท่าเทียมกันได้อย่างไร และต้องมีการดูแลนักกีฬาให้ดีๆ เพื่อให้รองรับการแข่งขัน และอาชีพต่อไปของอนาคตนักกีฬาอีกด้วย

คุณเทพมองว่า การแข่งขันกีฬา อีสปอร์ต ต้องป้องกันไม่ให้มีการโกงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโกงจากความได้เปรียบของแต่ละคน หรือ การล้มมวยระหว่างการแข่งขัน ซึ่งต้องทำให้เกิดความยุติธรรมในการแข่งขัน

คุณอุ้ย มองว่า การแข่งขันควรจะมีความยุติธรรมในการแข่งขัน เพื่อให้ขวัญใจของนักกีฬามีมากขึ้น และไม่ให้ส่งผลกับภาพลักษณ์ของการแข่งขันอีสปอร์ตในประเทศไทย

การใช้ทรัพยากรด้านเกม และ อีสปอร์ต ให้เกิดประโยชน์ควรไปในทิศทางใด

“คุณ สฤณี อาชวานันทกุล” นักวิเคราะห์การเงิน และคอลัมนิสต์ The Matter

คุณบุ๊คมองว่า การแข่งขันควรจะมีความเท่าเทียมกันเพื่อไม่ให้มีความแตกต่างและความไม่เท่าเทียมของการแข่งขัน

คุณดิว มองว่า การแข่งขันอีสปอร์ตจะสามารถเชื่อมต่อกับทุกด้าน ยกตัวอย่างเช่นสามารถมีส่วนช่วยในเรื่องของธุรกิจการท่องเที่ยว เช่นโรงแรม การท่องเที่ยว และเรื่องของวัฒนธรรม สำคัญก็คือ สามารถเอามาเชื่อมกับระบบการ “ศึกษา” ได้ด้วย

คุณสฤณีมองว่า เห็นด้วยการที่นำเอาเกมมาเชื่อมต่อกับการศึกษา เพราะว่าตอนนี้เกมก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่ใช่แค่เด็กอย่างเดียว เราสามารถนำบทบาทของเกมมาเชื่อมต่อให้ได้หลากหลายและให้เป็นประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่นเราสามารถนำเกมมาเป็นส่วนหนึ่งของการแนะแนวการศึกษา หรือ ใช้ในด้านการแพทย์ได้ด้วย แต่สำคัญคือ ทุกอย่างอยู่ที่ “ความน่าเชื่อถือ” ของเกม และการแข่งขันอีสปอร์ต ที่จะต้องทำให้สังคมยอมรับให้ได้ หากสังคมยอมรับอีสปอร์ตมากขึ้นก็จะทำให้วงการพัฒนาไปได้มากยิ่งขึ้น

คุณเทพมองว่า ข้อมูลความนิยมของคนเล่นเกมจะมีประโยชน์ทั้งในด้านการทำตลาด ธุรกิจ และการโฆษณา โดยเฉพาะเรื่องของจำนวนผู้ชมการแข่งขันที่จะสามารถมีมูลค่าด้านเศรษฐกิจได้

คุณอุ้ยมองว่า การเล่นเกมคือการใช้จินตนาการ และส่งผลต่อการเรียนรู้ สำคัญก็คือ การเล่นเกมคือการพบปะกับคนเล่นเกมจริงๆ และคอมมูนิตี้จะสามารถสร้างการแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ ซึ่งทำได้ง่ายกว่าไปห้องสมุดด้วยซํ้า

จะนำเกม หรือ อีสปอร์ต มาพัฒนาศักยภาพตัวเองและกลุ่มในสังคมที่เราอยู่ได้อย่างไร?

“คุณ อุ้ย รอมแพง จันทร์ยวีร์ สมปรีดา” นักเขียนนวนิยายเรื่อง “บุพเพสันนิวาส”

คุณอุ้ย มองว่า การแข่งขันก็มีการแพ้ มีชนะ ซึ่งจะมีผลในการพัฒนาตนเองได้ แต่ทั้งนี้อยู่กับสถาบันของครอบครัวได้ด้วย ซึ่งสถาบันครอบครัวจะมีส่วนช่วยสำคัญในการให้สมาชิกในบ้านที่เล่นเกมหรือนักกีฬาสามารถนำไปพัฒนาตนเองได้

คุณสฤณีมองว่า วงการเกมมีส่วนในการพัฒนามากยิ่งขึ้น และการแข่งขันอีสปอร์ตจะทำให้สื่อมองเกมในแง่ที่ดีขึ้น และสามารถนำไปทำประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่นการใช้นักกีฬาอีสปอร์ตเป็นแบบอย่างที่ดีกับสังคมและเยาวชน แต่ทั้งนี้ต้องใช้เวลา

คุณดิวได้นำวลีเด็ดมาว่า “ชนะใจตัวเอง ชนะใจเพื่อนร่วมทีม ชนะใจคู่แข่ง และชนะใจกองเชียร์” ซึ่ง หากพวกเราคนเล่นเกมและนักกีฬาอีสปอร์ต สามารถเอาชนะใจตัวเอง และให้ความเคารพกับวงการได้ ก็จะสามารถชนะใจสังคมและพัฒนาสังคมไปด้วยกันได้

คุณบุ๊คมองว่า หากคนเล่นเกม นักกีฬาอีสปอร์ต ได้พัฒนาบุคิคของตนเอง และทำให้สังคม คนรอบข้างได้เห็นประโยชน์จากการเล่นเกม สังคมจะเป็นคนปรับตัวและเข้ามาเรียนรู้ร่วมกับเรา และก็จะส่งผลดีกับการเรียนรู้ของตนเองอีกด้วย

คุณเทพมองว่า หากนักกีฬาอีสปอร์ตสามารถปรับตัว เรียนรู้ และพัฒนาตนเองในการเข้าร่วมการแข่งขัน ก็จะทำให้สามารถเป็นนักกีฬาระดับแชมป์โลกได้ และในด้านสถิติ หากมีการวิเคราะห์ เก็บข้อมูลของนักกีฬา จำนวนผู้ชม และการแข่งขัน ก็จะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่างๆ ได้ เช่น สามารถนำมาสร้างสินค้าใหม่ๆ ได้ด้วย

“คุณเทพกร ธนูถนัด” นักวิเคราะห์ข้อมูล

โดยสรุปแล้ว สำหรับการเสวนาในครั้งนี้ ได้มีประเด็นสำคัญต่างๆ ดังนี้
– ภาพรวมของการเล่นเกม การแข่งขันอีสปอร์ต ทัศนคติของวิทยากรที่มีต่อสังคมไทย
– การมีส่วนร่วมในการพัฒนาวงการทั้งการแข่งขัน, นักกีฬา และผู้ชมการแข่งขัน
– การทำให้การแข่งขันกีฬา อีสปอร์ต ให้เป็นมาตราฐาน และมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น
– การนำเกม และการแข่งขันอีสปอร์ตให้เป็นประโยชน์ และสามารถนำไปพัฒนาได้อย่างหลากหลายในด้านต่างๆ

ความเห็นของผู้ชมการเสวนามีดังนี้
– เกมมีส่วนสำคัญในด้านการศึกษาและสามารถนำไปพัฒนาด้านการเป็นอาชีพได้ สำคัญคือ ภาคธุรกิจที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพและเข้ามาช่วยกัน จะทำให้สังคมได้มีความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น
– เกมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่จะสามารถมีส่วนการในสร้างความสัมพันธ์ให้กับผู้คนและครอบครัวได้
– อีสปอร์ตเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนที่อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคนที่อยากเป็นนักกีฬาได้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเล่นกีฬาได้ และหากการแข่งขันมีการทำกติกาให้เป็นมาตราฐานเป็นสากล จะทำให้สังคมยอมรับกันได้มากยิ่งขึ้น
– ทางสมาคมควรจะมีบทบาทในการสร้างความเข้าใจให้สังคมมองเห็นความแตกต่างของ “คนเล่นเกม” กับ “นักกีฬาอีสปอร์ต” เป็นอย่างไร และจะมีส่วนร่วมในการพัฒนานักเล่นเกมให้ดีขึ้นอย่างไร

สำหรับผู้อ่านที่สนใจ อยากติดตามข่าวสารและการทำงานของสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย (TESF) สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ที่ แฟนเพจ ทางการได้เลยนะครับ สำหรับงานนี้ ได้รับการสนับสนุนการจัดงานโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ครับ

 

Leave a comment